ความเชื่อเรื่องกุมารีนั้นมีมานานมากกว่า 300 ปีแล้ว กุมารีเป็นคำภาษาเนปาลที่มีความหมายตามตัวอักษรว่า “เทพธิดาบริสุทธิ์” เป็นเทพีที่มีชีวิตที่ชาวฮินดูและชาวพุทธบูชา เชื่อกันว่ากุมารีเป็นร่างที่สถิตย์ของเทพธิดาทาเลจู(เทวีทุรคา) มีพลังแห่งความสุขุม ประทานพรให้คนที่ไปกราบขอพรหายป่วยและช่วยให้สิ่งที่ไปขอพรจะสมความปรารถนาอีกทั้งยังช่วยปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัย และประทานพรให้มีความมั่งคั่ง
กุมารีจะแต้มติกะ (tika) สีแดงบนหน้าผากเรียกว่า “ภริคุ (bhrigu)” เป็นรูปดวงตาที่เปรียบเสมือน "ดวงตาที่ 3" ซึ่งเป็นตัวแทนของพลังจักรวาลของโลก ติกะที่สว่างและเปล่งประกายที่สุดนี้เป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญรุ่งเรืองและอนาคตที่สดใสของประเทศ กุมารีจะต้องไม่เหยียบพื้นดินด้วยเท้าเปล่าเด็ดขาด เพราะงั้นเวลาจะไปไหนมาไหนจะต้องมีคนคอยอุ้มตลอดเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่งในบ้านของตัวเอง
มีกุมารีในประะเทศเนปาลจะมีอยู่ทั้งหมด 11 องค์ ซึ่งถูกเลือกตามเมืองต่างๆ เพื่อปกป้องเมืองจากพลังความชั่วร้าย โดยองค์กุมารีที่สำคัญที่สุดจะมีอยู่ 3 องค์อยู่ที่เมือง Kathmandu จะเรียกว่ากุมารีหลวง, กุมารีเมืองPatan, กุมารีเมืองBhaktapur กุมารีจะได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพธิดาที่มีชีวิต โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต้องเด็กสาวที่ร่างกายไม่มีตำหนิเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ มาจากวรรณะศากยะ (ระบบวรรณะเฉพาะถิ่นในเนปาล) ในชุมชนชาวเนวาร์ (Newar) ซึ่งเชื่อกันว่าสืบเชื้อสายมาจากตระกูลศากยะเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า ผู้เข้าคัดเลือกจะต้องเป็นเด็กหญิงที่มีความกล้าหาญและไม่เกรงกลัวต่อสิ่งต่างๆ เช่น การฆ่าสัตว์เพื่อถวายบูชาเทพ และเด็กหญิงคนนั้นจะต้องไม่เคยเสียเลือดมาก่อน และดวงชะตาของเธอจะต้องตรงกับกษัตริย์ด้วย มีการเสี่ยงทายคัดเลือกอย่างละเอียดในอีกหลายขั้นตอนกว่าจะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของเทพธิดากุมารีในฐานะร่างอวตารของเทพธิดาทาเลจู
เทพธิดาที่มีชีวิตที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการบูชาด้วยความเคารพอย่างสูงและแม้แต่ราชาก็ปฏิบัติตามประเพณีการรับ tika และพรจากองค์กุมารี
กุมารีไม่ควรสูญเสียเลือดสักหยดจากร่างกายและอยู่ในช่วงก่อนมีการเจริญวัย เชื่อว่าถ้ามีการเสียเลือดหรือหลั่งโลหิตออกมาจะเกิดภัยพิบัติหรือสิ่งไม่ดีร้ายแรงแก่บ้านเมืองโดยหลังจากที่กุมารีเข้าสู่วัยรุ่นและเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกการค้นหากุมารีองค์ใหม่จะเริ่มต้นขึ้นมาแทน
กุมารีหลวงจะอาศัยอยู่ในวิหารที่ทำจากไม้และกระเบื้อง 3 ชั้นอันงดงาม เรียกว่า Kumari Chhen หรือ Kumari Ghar ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในแต่ละวัน วิหารนี้ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของ Basantapur Durbar Square ซึ่งเป็นจุดที่นิยมของนักท่องเที่ยว ในทุกๆวันจะเห็นชาวต่างชาติมาเยี่ยมชมที่นี่มากมาย แต่ไม่สามารถเข้าพบกุมารีเพื่อขอพรหรือถ่ายภาพร่วมเป็นที่ระลึกได้ท่านจะเห็นกุมารีหลวงได้จากหน้าต่างด้านบนของวิหารเท่านั้นยกเว้นในพระราชพิธีสำคัญเพียงไม่กี่ครั้งใน1ปี ที่กุมารีหลวงจะออกมาพบประชาชนทั่วไป ถ้าเป็นคนเนปาลสามารถเข้าพบและกราบขอพรกุมารีหลวงได้ถึงพื้นที่ด้านในที่พัก โดยวังของกุมารีหลวงจะอยู่ใกล้ๆกับ Kathmandu Durbar Square
กุมารีเมืองPatan, กุมารีเมืองBhaktapur ในกรณีที่เป็นต่างชาติสามารถเข้าพบ,ถ่ายรูปร่วมได้ โดยท่านสามารถทำบุญนำเงินไปวางไว้ที่พานด้านหน้าของกุมารีก่อนพร้อมอธิฐานขอพรต่างๆแล้วขออนุญาตถ่ายภาพร่วมเป็นที่ระลึกได้ ในระหว่างเข้าพบห้ามชวนกุมารีพูดคุยหรือสนทนาใดๆเด็ดขาดหรือห้ามแตะต้องโดนตัวกุมารี
กุมารีจะถูกเลือกตั้งแต่อายุยังน้อยจน 3 ขวบ และต้องออกจากบ้านพ่อแม่จนกว่าจะมีกุมารีอื่นมาแทนที่เธอ ถ้าเป็นกุมารีหลวงเด็กหญิงจะอยู่โดยไม่มีพ่อแม่ตั้งแต่อายุยังน้อย และยิ่งไปกว่านั้นพ่อแม่ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปเยี่ยมลูกสาวของพวกเขา และจะได้เห็นก็ต่อเมื่อกุมารีปรากฏตัวในโอกาสพิเศษประมาณ 13 ครั้งต่อปี แต่ถ้าเป็นกุมารีเมืองPatan, กุมารีเมืองBhaktapur อนุญาตให้พ่อ,แม่อยู่ร่วมด้วยกันได้
ปัจจุบันบ้านกุมารีมีครูสอนพิเศษส่วนตัวและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษา กุมารีที่ออกจากตำแหน่งไปแล้วจะมีเงินเดือนให้เดือนละประมาณ 3,000 รูปี หรือประมาณ 1,593 บาทเป็นค่าส่งเสริมการศึกษาให้กับกุมารีคนเก่าๆ ที่ออกจากตำแหน่งไปแล้ว และหากใครแต่งงานก็จะได้รับเงิน 50,000 รูปี หรือประมาณ 26,556 เป็นค่าสนับสนุนการแต่งงานครับ