บ่อเก๋งแห่งนี้เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์อันสำคัญของจังหวัดสงขลา กล่าวได้ว่าเป็นเมืองสงขลาแห่งที่สองนับแต่อดีตกาล เมืองสงขลาได้มีการย้ายที่ตั้งใหม่ถึง3ครา ซึ่งเมืองสงขลาแห่งแรก เริ่มแรกเดิมทีเชื่อกันว่าอยู่ฝั่งหัวเขาแดง ในยุคนั้นก็มีความรุ่งเรืองด้านการค้าขาย มีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ และมีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว
ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้นำกองทัพทั้งทางบกและทางทะเลเข้าตีเมืองสงขลาจนสำเร็จ ทำให้เกิดการย้ายเมืองสงขลามาอยู่ฝั่งแหลมสน ที่เมืองสิงหนครนี้ ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากฝั่งหัวเขาแดง แต่เนื่องด้วยพื้นที่บริเวณฝั่งแหลมสนนี้ จะเป็นพื้นที่เชิงเนินเขาส่วนใหญ่จึงทำให้ยากต่อการหาแหล่งน้ำจืดมาบริโภค และบริเวณบ่อเก๋งนี้เองที่มีบ่อน้ำจืดอยู่ ชาวบ้านจึงมาตักน้ำไปใช้สำหรับการอุปโภค บริโภค ต่อมาก็ได้มีการย้ายเมืองสงขลามายังแห่งที่สาม นั่นคือ เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง ที่เป็นเมืองสงขลามาตราบจนทุกวันนี้
ความโดดเด่นของบ่อเก๋ง อยู่ที่ ซุ้มประตูที่มีสไตล์แบบจีนโบราณตามประวัติศาสตร์บอกว่าเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมของหมิ่นหนาน ซึ่งก็คือสไตล์ชาวจีนฮกเกี้ยน เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูไปแล้วก็จะมีสะพานที่ทำจากไม้ไผ่ทอดยาวออกไปสู่ทะเลสาบสงขลา โดยสองข้างทางจะเต็มไปด้วยพืชตามแบบของป่าชายเลนเช่นป่าโกงกาง ดูแล้วก็สวยงามไปอีกแบบ ครับ